วันอังคารที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เผยสุดยอดผลงานสร้างสรรค์ของเยาวชนนักคิดระดับประเทศ การประกวด “รางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย ปี 56”

เผยสุดยอดผลงานสร้างสรรค์ของเยาวชนนักคิดระดับประเทศ
การประกวด รางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย ปี 56”



ทราบผลกันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย (นวท.) ประจำปี 2556   ที่เข้ารอบระดับประเทศ ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งจัดโดย สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ โดยได้ประกาศผลในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2556 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา ไปหมาดๆ ซึ่งสร้างรอยยิ้มแห่งความดีใจและภาคภูมิใจให้กับน้องๆ เยาวชนนักคิดเป็นอย่างมาก

ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ หารหนองบัว นายกสมาคมวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า โครงการรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย (นวท.) จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2544 เพื่อส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ประเภทงานวิจัย หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ที่มีศักยภาพในเชิงอุตสาหกรรมหรือเชิงพาณิชย์ ซึ่งอาจพัฒนาจนถึงขั้นประกอบธุรกิจได้จริง และเพื่อเป็นเวทีให้เยาวชนใช้ความคิดสร้างสรรค์ในทางที่ถูกต้อง โดยเฉพาะในเชิงนวัตกรรมซึ่งต้องสนับสนุนเยาวชนไทยอย่างต่อเนื่อง
สำหรับปีนี้ ถือว่าเป็นครั้งที่ 13 แล้ว โดยได้รับการตอบรับจากเยาวชนส่งผลงานเข้าประกวดเป็นจำนวนมาก และผลงานที่ผ่านเข้ารอบรวมทั้งสิ้นจำนวน 30 ผลงาน โดยแบ่งเป็น สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จำนวน 14 ผลงาน และสาขานวัตกรรมกิจกรรมทางกายและกีฬาเพื่อสุขภาพ จำนวน 16 ผลงาน ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จตามคาดหวังไว้ และที่สำคัญเป็นการแสดงให้เห็นถึงการตื่นตัวของเยาวชน รวมทั้งสถาบันการศึกษาที่มีต่อการสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรม ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีของประเทศไทย ที่ยังต้องการการพัฒนาเรื่องนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยเชื่อว่าหากมีการตอบรับ และตื่นตัวจากเยาวชน การพัฒนาด้านนวัตกรรมของประเทศจะประสบความสำเร็จ และสัมฤทธิ์ผลได้ไม่ยาก ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ กล่าว

ไปพูดคุยกับตัวแทนเยาวชนคนเก่งที่ผลงานเข้ารอบระดับประเทศ  เริ่มที่ นางสาวอภิญญา ถนอมแก้ว นักศึกษาชั้น ปวส. ปีที่ 1 จากวิทยาลัยอาชีวศึกษานครศรีธรรมราช กับผลงาน น้ำสกัดใบชะมวง        ซึ่งประกวดในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับปริญญาตรี และปวส. กล่าวว่าที่มาของการคิดค้นโครงการนี้เกิดจากการที่ผู้บริโภคมีความต้องการปรุงอาหารโดยใช้ใบชะมวง ทั้งที่ช่วยให้อาหารทีรสชาติที่ดี แก้เลี่ยน และช่วยในเรื่องการทำให้อาหารมีความนุ่ม แต่ใบชะมวงในปัจจุบันค่อนข้างหายาก จึงเป็นที่มาของโครงการทำน้ำสกัดจากใบชะมวง ให้เป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ทำให้มีความสะดวกในการประกอบอาหาร และง่ายต่อการเก็บรักษา โดยสามารถเก็บได้นานถึง 1 ปี
“น้ำสกัดใบชะมวงในโครงการของเรา แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ แบบน้ำสกัดใบชะมวงอย่างเดียว เหมาะกับการทำน้ำจิ้ม น้ำยา ปรุงรสอาหาร และทำเครื่องดื่ม อีกแบบคือน้ำสกัด ผสมกับใบชะมวง ที่เหมาะกับการทำแกง ซึ่งเชื่อว่า โครงการนี้จะต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ และยังทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น และส่งเสริมให้มีการปลูกป่าชะมวงอีกด้วยค่ะ” อภิญญา กล่าว

มาที่อีกหนึ่งผลงานในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับปริญญาตรี และปวส. ที่มีชื่อว่า ผนังพอ    ลิเมอร์คอนกรีตสำเร็จรูปก่อสร้างเร็ว เจ้าของผลงาน คือ นายธวัชชัย อริยะสุทธิ หรือน้องเค นักศึกษาระดับชั้นปริญญาตรี ปีที่ 3 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวถึงผลงานว่า จากความนิยมใช้ผนังสำเร็จรูปในการก่อสร้างอาคารซึ่งเป็นที่ต้องการเพิ่มมากขึ้น แต่ทั้งนี้ผนังสำเร็จรูปที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันจะค่อนข้างหนัก และใช้ได้เฉพาะกับโครงการใหญ่ๆ จึงเป็นที่มาของผนังพอลิเมอร์คอนกรีตสำเร็จรูปก่อสร้างเร็ว      ที่จะช่วยลดข้อจำกัดของการใช้งานดังกล่าวได้
“ผนังพอลิเมอร์คอนกรีตสำเร็จรูปดังกล่าว เป็นนวัตกรรมที่ต่อยอดจากคอนกรีตบล็อกน้ำหนักเบาจากเศษพอลิเมอร์เหลือทิ้ง ที่มีคุณสมบัติพิเศษ คือน้ำหนักเบา ลอยน้ำได้ ตกกระแทกไม่แตกจากที่สูงระดับ 2.5 เมตร    ตัดได้ด้วยเลื่อยทั่วไป ตอกและยึดตะปูได้ดี ไม่แตกหักขณะขนส่ง ใช้คนงานน้อย ซึ่งจะช่วยให้การก่อสร้างเป็นไปได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังเป็นฉนวนกันความร้อนที่ดีกว่าผนังสำเร็จรูปทั่วไป” ธวัชชัย กล่าว

ด้านสาขานวัตกรรมกิจกรรมทางกายและกีฬาเพื่อสุขภาพ กับผลงานที่มีชื่อว่า “Balance Testing Fun” โดย นางสาวณัฐธยาน์ สุวรรณดารักษ์ หรือ น้อยหน่า นักศึกษาชั้น ปวส. ปีที่ 3 สถาบันการ      พลศึกษา วิทยาเขตสุโขทัย ตัวแทนทีม กล่าวว่า จากการศึกษาปัญหาการทรงตัวของผู้สูงอายุ พบว่า        การทรงตัวลดลงเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระบบโครงสร้างและกล้ามเนื้อลดลง ส่งผลต่อความสามารถในการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การทรงตัวและการเดิน ทำให้ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการล้มค่อนข้างสูง โดยเฉพาะผู้สูงอายุเพศหญิง การล้มส่งผลให้ผู้สูงอายุเกิดภาวะกลัวการล้ม (fear of fall) หรือความไม่มั่นใจในการทรงตัว โดยอุปกรณ์แท่นตัวนี้ จะเป็นการฝึกการทรงตัวร่วมกับโปรแกรมการออกกำลังเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสมดุลของร่างกาย 
“วิธีการใช้อุปกรณ์คือ ยืนบนแท่นเหยียบแล้วย่อตัวเล็กน้อย ทิ้งน้ำหนักตัวโดยอิสระ เพื่อนำลูกบอลไปสู่จุดหมาย การทำเช่นนี้เป็นการฝึกเพื่อช่วยเพิ่มความสมดุลของร่างกาย ช่วยซ่อมแซม ฟื้นฟู  และยังเสริมสร้างความสามารถในการทรงตัวของผู้สูงอายุ โดยควรมีการฝึกอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยจะเป็นการฝึกการทรงตัวที่ดีกว่าการเดิน ยืน เพราะเป็นการลดแรงกระแทกในการฝึกแบบดังกล่าวค่ะณัฐธยาน์ กล่าว

ทั้งนี้ ผลงานที่ได้รับการคัดเลือกผ่านเข้ารอบระดับประเทศ ในการประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย (นวท.) ครั้งที่ 13  จะประกาศผลในงานวันนวัตกรรมแห่งชาติ  วันที่ 5 ตุลาคม 2556  โดยรางวัลชนะเลิศจะได้รับถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พร้อมทุนการศึกษา 50,000 บาท และได้ไปศึกษาดูงานต่างประเทศเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ส่วนรางวัลที่ 2 และ 3 จะได้รับ โล่เกียรติยศ ประกาศนียบัตร และทุนการศึกษา 30,000 บาท และ 20,000 บาท ตามลำดับ    สำหรับรางวัลนวัตกรรมกิจกรรมทางกาย และกีฬาเพื่อสุขภาพ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือ ปวช. จะได้รับทุนการศึกษา 20,000 บาท  15,000 บาท  และ 10,000 บาท ตามลำดับ

       เห็นผลงานจากความคิดของเด็กไทยกันแล้ว น่าชื่นใจว่าเยาวชนไทยก็มีแนวคิดและความสามารถไม่แพ้ชาติอื่นๆ ในโลก ซึ่งเราเชื่อว่าหากได้รับการพัฒนาผลงาน และมีการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนอย่างเต็มที่ ผลงานของเด็กไทยเราอาจไปผงาดในวงการนวัตกรรมโลกได้ไม่ยาก...


****************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น